ธรรม 10 ประการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้พิจารณาบ่อย ๆ (2)
การพิจารณาอาพาธ 6 ประการที่กล่าวแล้วในเบื้องต้น ส่งผลต่อ ‘สำรวม 4’ คือ ความสำรวมกาย ความสำรวมวาจา ความสำรวมอาชีพ และ ธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งภพ (องฺ.สตฺตก. (ไทย) 23/ 74/ 169) ดังจะอธิบายต่อไปนี้
การพิจารณาอาพาธทั้ง 6 ประการได้อย่างเหมาะสมเรียกว่า ความสำรวมกาย กล่าวคือ ผู้พิจารณาต้องมีสติจึงจะสามารถสังเกตความหนาวความร้อนได้ว่า ควรจะเลือกเครื่องนุ่งห่มหนาบางอย่างไร เหมาะแก่กาลเทศะอย่างไร โดยดูจากสถานที่ที่เราอยู่หรือกำลังจะเดินทางไปเพื่อเตรียมพร้อมก่อน อีกทั้งรู้จักการสังเกตสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ทิศทางลม การถ่ายเทของอากาศ ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยในการปรับอุณหภูมิอย่างไรไม่ให้เป็นโทษ คือ ร้อนเกินไปหรือเย็นเกินไปทำให้เจ็บป่วยได้
ส่วนความหิวและความกระหาย จะสังเกตว่าการกินอาหารเท่าใดจึงจะพอดีทั้งภาวะโภชนาการและปริมาณที่เหมาะสม เพื่อยังสังขาร คือ ร่างกาย (ประยุทธ์ หลงสมบุญ, 2546: 684) ให้ดำรงอยู่ได้ จึงต้องมีสติพิจารณาก่อนกินและขณะกินทุกคำกลืนจึงจะสามารถสังเกตทันว่าอะไรเป็นคุณเป็นโทษต่อร่างกาย และหยุดได้ทันเมื่อรู้สึกอิ่มพอดี ไม่เผลอกินมากไปจนเกิดทุกขเวทนาภายหลัง การดื่มน้ำก็ดื่มอย่างมีสติ ค่อย ๆ จิบ ไม่รีบจนสำลัก กะประมาณได้ว่าดื่มเท่าใดจึงจะพอดีไม่ทำให้ท้องอืด การกินและการดื่มนั้นจะไม่เกิดโทษแก่ร่างกาย


การขับถ่ายทั้งอุจจาระและปัสสาวะ หากรู้จักสังเกตจะรู้ได้ว่าสุขภาพของเราเป็นอย่างไร กินมากไป น้อยไป สารอาหารพอดีหรือไม่สามารถสังเกตได้จากรูปร่าง สี กลิ่น ปริมาณ ความอ่อน-แข็ง และความหยาบ-ละเอียดของอุจจาระ รวมถึงลักษณะผิดปกติ เช่น สีดำ สีซีด ฯลฯ ซึ่งบ่งบอกโรคได้อีกด้วย การพิจารณาอุจจาระทุกครั้งเพื่อสังเกตลักษณะและสิ่งผิดปกติจึงจำเป็นมาก การสังเกตปัสสาวะก็เช่นกัน หากสีเข้มไปแสดงว่าดื่มน้ำน้อย สีจางเกือบใสแสดงว่าดื่มน้ำมากเกินไป ซึ่งทั้ง 2 ภาวะนี้ไตจะทำงานหนักมากกว่าปกติ ส่วนการดื่มน้ำพอดีสีปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองใส ไม่ขุ่น และควรสังเกตว่ามีสิ่งเจือปนหรือไม่เช่น มีเลือดปน หรือมีสีผิดปกติไปจากที่ควรจะเป็นหรือไม่
ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการศึกษาหาความรู้และตั้งสติในการพิจารณาทุกครั้งจึงจะสามารถสังเกตเห็นได้ว่าควรปรับปรุงตนเองในเรื่องกิน ดื่ม นุ่งห่ม และขับถ่ายอย่างไรจึงจะพอดี ดังนั้น ผู้ที่หมั่นพิจารณาอาพาธ 6 ของตนเองบ่อย ๆ จะได้สั่งสมทักษะความช่างสังเกตบ่อย ๆ จนเป็นคนช่างสังเกต เข้าใจร่างกายตนเองจึงมีอาพาธน้อย รู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง และรู้จักระมัดระวังกิริยาอาการต่าง ๆ ทำให้บุคลิกภาพดีขึ้นไปโดยอัตโนมัติ เพราะเคยชินกับการสังเกตและระมัดระวังอยู่เสมอ ผู้ที่ปฏิบัติได้อย่างนี้เรียกว่ามีความสำรวมกาย
เมื่อบุคคลใดมีความช่างสังเกตและระมัดระวังจนสามารถสำรวมกายได้ตามนัยที่อธิบายข้างต้นแล้ว ความสำรวมวาจาย่อมเกิดขึ้นโดยง่าย เนื่องจากอุปนิสัยช่างสังเกตและมีสติเป็นพื้นฐาน จึงมองออกว่าในสถานการณ์เช่นนี้ควรพูดอย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟังมากที่สุด โดยพิจารณาจากอุปนิสัยและพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของผู้ฟัง ให้ข้อมูลที่เป็นความจริง ไม่หลอกลวง ระมัดระวังการอธิบายในประเด็นต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ฟังเข้าใจคลาดเคลื่อน รู้กาลเทศะ และคำนึงถึงเวลาที่เหมาะสม บุคคลใดพิจารณาสำรวมระวังในการพูดได้อย่างนี้ กล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่มีความสำรวมวาจา
บุคคลที่สามารถสำรวมกายและสำรวมวาจาได้ดังที่กล่าวมาแล้ว ย่อมประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพได้ไม่ยาก เพราะเป็นผู้มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว รู้จักตนเองว่าควรวางตัวอย่างไร ควรพูดแค่ไหน รู้จักผู้ร่วมงานและผู้ที่จะติดต่อประสานงานด้วย รู้จักวัฒนธรรมองค์กร รู้จักงานที่ตนเองรับผิดชอบ จึงมีการตัดสินใจที่แม่นยำ มีความผิดพลาดน้อย ทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้อื่นทั้งผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า เพื่อนร่วมงาน และบริวาร เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานขึ้นเป็นลำดับ บุคคลที่ปฏิบัติได้อย่างนี้กล่าวได้ว่ามีความสำรวมอาชีพ

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพบเจอทุกวันไปจนตลอดชีวิต ดังนั้น บุคคลที่หมั่นพิจารณาอาพาธ 6 และบริหารจัดการปัจจัย 4 ได้ดี เป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา และสำรวมอาชีพอย่างเหมาะสมได้ในทุก ๆ วัน บุคคลนั้นย่อมมีภพใหม่ที่เป็นสุคติ มีความประณีตขึ้นกว่าในปัจจุบัน เป็นผู้มีกิเลสเบาบางลงเพราะมีสติหักห้ามใจตนเองได้ ไม่ปล่อยใจไปตามกิเลส จึงเป็นที่มาของชื่อธรรมในข้อที่ 10 ว่า ธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งภพ ซึ่งหมายถึง ภพใหม่ของแต่ละบุคคลจะเลวหรือประณีตเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติธรรมประจำสรีระทั้ง 9 ประการข้างต้นของบุคคลนั้น (องฺ.ทสก. 24/ 49/ 105)
____________________
• มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 45 เล่ม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.
• ประยุทธ์ หลงสมบุญ. พจนานุกรมมคธ-ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. ปทุมธานี: วัดพระธรรมกาย, 2546.
พุทธศาสตรมหาบัณฑิต DOU



