'การบวช' เส้นทางของผู้มีปัญญา
ในสามัญญผลสูตร (ที.สี. (ไทย.หลวง) 9/ 102/ 59) กล่าวว่า การบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนานั้นมีแรงจูงใจอยู่ 3 ประการ คือ
1) ฟังธรรมแล้วเกิดความศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
2) มีปัญญาไตร่ตรองเห็นโทษภัยในชีวิตฆราวาสว่าคับแคบ และเป็นที่มาของกิเลสทั้งหลาย
3) มีปัญญาไตร่ตรองเห็นคุณค่าของชีวิตนักบวชว่า เป็นทางปลอดโปร่ง มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ได้เต็มที่
ดังนั้น การบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ดีงามและสูงส่งอย่างยิ่ง
จากข้อความข้างต้นที่ว่า ชีวิตฆราวาสคับแคบ เป็นที่มาของกิเลส เพราะเป็นการใช้ชีวิตที่ต้องเกี่ยวพันกับกาม ถูกพันธนาการให้ตกเป็นทาสของกาม ซึ่ง ‘กาม’ มีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ กิเลสกาม และวัตถุกาม โดยมีความหมายดังนี้


1) กิเลสกาม คำว่า กิเลส หมายถึง ความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์ ส่วนคำว่า กาม หมายถึง ความใคร่ ความอยาก สิ่งที่น่าปรารถนา ดังนั้น กิเลสกาม จึงมีความหมายว่า ความชั่วที่แฝงอยู่ในใจนั้นผลักดันให้บุคคลกระทำในสิ่งที่ผิด เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนปรารถนา ซึ่งกิเลสกามแบ่งออกเป็น 10 อย่าง ประกอบด้วย (1) โลภะ (2) โทสะ (3) โมหะ (4) มานะ คือ ความถือตัวว่าเหนือกว่าผู้อื่น (5) ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ดื้อดึง ดังนั้น ทิฏฐิมานะ จึงหมายถึง ความดื้อรั้นอวดดี หรือดื้อดึงถือตัว (6) วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลาย (7) ถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย (8) อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน ใจไม่สงบ (9) อหิริกะ คือ ความไม่ละอายต่อความชั่วทั้งหลาย และ (10) อโนตตัปปะ คือ ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่วทั้งหลาย (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุต์โต), 2551: 15 และ 22)
2) วัตถุกาม หมายถึง วัตถุอันน่าปรารถนา เรียกอีกอย่างว่า กามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส โผฏฐัพพะ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุต์โต), 2551: 360) กล่าวให้ง่ายคือ สิ่งที่เราเห็นด้วยตา เสียงที่ได้ยินด้วยหู การได้กลิ่นด้วยจมูก การรับรู้รสชาติด้วยลิ้น และสัมผัสที่เรารู้สึกได้จากการจับต้อง หรือมาถูกต้องผิวกายเรา วัตถุกามนั้น มีตั้งแต่อย่างหยาบและประณีตขึ้นไปเป็นลำดับ พอได้วัตถุกามหยาบ ๆ มาก็อยากได้ของดีขึ้น พอได้ของที่ดีขึ้น ก็อยากได้ที่ดีขึ้นประณีตขึ้นไปกว่านั้นอีก ยิ่งเห็นคนอื่นได้สิ่งของประณีตมากเท่าไหร่ ใจก็ร้อนรุ่มอยากได้อย่างเขาหรืออยากได้ดีกว่าเขา ตกเป็นทาสของกามนั้นอยู่อย่างนั้นไม่รู้จบสิ้น
ดังนั้น การออกบวชจึงเป็นทางเดินของผู้มีปัญญามาก สามารถมองเห็นความทุกข์เหล่านี้แล้วดึงตนเองให้ออกห่างจากสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความอยาก ดำรงชีวิตเรียบง่าย ใช้ปัจจัย 4 เท่าที่จำเป็นพอให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ โดยมีเป้าหมายจะขจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจ หยุดการเวียนว่ายในวัฏสงสาร
____________________
• กรมการศาสนา. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง. 45 เล่ม. กรุงเทพฯ: กรมการศาสนา, 2525. (พิมพ์เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี).
• พระพรมหคุณาภรณ์ (ป.อ. ประยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2551.
พุทธศาสตรมหาบัณฑิต DOU



