ธรรม 10 ประการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้พิจารณาบ่อย ๆ (1)

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในสรีรัฏฐธัมมสูตร (องฺ.ทสก. (ไทย) 24/ 49/ 105) ว่าด้วยธรรมประจำสรีระ 10 ประการที่ทรงให้ภิกษุพิจารณาเนือง ๆ ประกอบด้วย (1) ความหนาว (2) ความร้อน (3) ความหิว (4) ความกระหาย (5) ความปวดอุจจาระ (6) ความปวดปัสสาวะ (7) ความสำรวมกาย (8) ความสำรวมวาจา (9) ความสำรวมอาชีพ และ (10) ธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งภพ

          หากดูผิวเผินจะเห็นว่าเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป เพราะความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ฯลฯ เป็นเรื่องที่เราพบเจออยู่ทุกวัน แต่ที่น่าสนใจคือ ทำไมพระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาเรื่องเหล่านี้บ่อย ๆ และเมื่อพิจารณาแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร ซึ่งธรรม 10 ประการนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ข้อที่ 1-6 เรียกว่า ‘อาพาธ 6’ และข้อที่ 7-10 เรียกว่า ‘สำรวม 4’ อธิบายได้ดังนี้

          สาเหตุที่ธรรมข้อ 1-6 เรียกว่า อาพาธ 6 นั้น เนื่องจากพระพุทธองค์ตรัสไว้ในอรกสูตร (องฺ.สตฺตก. (ไทย) 23/ 74/ 169) ว่าเมื่อมนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยหกหมื่นปี จะมีอาพาธเพียง 6 ประการเท่านั้นคือ  (1) ความหนาว (2) ความร้อน (3) ความหิว (4) ความกระหาย (5) ความปวดอุจจาระ และ (6) ความปวดปัสสาวะ แสดงให้เห็นว่า ทั้ง 6 เรื่องนี้เบียดเบียนให้ร่างกายของเราเกิดความไม่สบาย เมื่อเกิดความไม่สบายกายด้วยความหนาวและความร้อน ก็ต้องหาเครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัยมาบำบัด หากไม่มีก็อาจหนาวจนตายหรือร้อนจนตายถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อเกิดความหิวก็ต้องหาอาหารมากิน กินมากไปก็เกิดโรค กินน้อยไปก็ขาดสารอาหาร และยังมีความกระหายบีบให้เราต้องหาน้ำมาดื่มเพื่อแก้กระหาย หากไม่กินอาหารและไม่ดื่มน้ำก็จะถึงแก่ชีวิตได้ และเมื่อกินอาหารเข้าไปแล้วร่างกายจะดูดซึมไปเฉพาะสารอาหารที่ใช้เลี้ยงร่างกายให้ดำรงอยู่ ส่วนกากก็ต้องขับถ่ายออกมา 

เราจึงต้องปวดอุจจาระ หากการขับถ่ายไม่ดีก็เกิดโรคต่าง ๆ มีริดสีดวง มะเร็งลำไส้ เป็นต้น น้ำที่เราดื่มเข้าไปก็เช่นกัน เมื่อร่างกายนำน้ำไปใช้แล้วก็ต้องขับถ่ายออกมาเป็นปัสสาวะ โดยมีทั้งส่วนที่เป็นน้ำที่เหลือ สารพิษและสารอื่น ๆ ที่ไตกรองออกมาด้วย หากกลั้นปัสสาวะไม่ขับถ่ายจะทำให้เกิดโรคมากมาย เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่ว ฯลฯ

          จากที่กล่าวข้างต้นสรุปได้ 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1) อาพาธ 6 ประการบีบคั้นให้เราต้องแสวงหาปัจจัย 4 อย่างพอประมาณมาเลี้ยงชีพให้ดำรงอยู่ได้ 2) จะใช้ปัจจัย 4 อย่างรู้ประมาณได้ก็ต้องพิจารณาบ่อย ๆ ในทุกครั้งที่กิน ดื่ม นุ่งห่ม ขับถ่าย ถ้าขาดการพิจารณาก็จะเป็นทางมาของโรคภัยไข้เจ็บที่เบียดเบียนสังขารของเราให้เสื่อมถอย เป็นการเร่งให้เวลาชีวิตของเราที่มีอย่างจำกัดหมดลงไปเร็วขึ้น เหลือเวลาที่จะบำเพ็ญเพียรเพื่อกำจัดกิเลสอาสวะน้อยลงไปทุกขณะ หลายรายที่กว่าจะรู้ตัวว่าตนเจ็บป่วยก็อาจร้ายแรงจนเกินจะแก้ไข ถึงแก่ชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น อาพาธ 6 ประการจึงเป็นเรื่องสำคัญมากถึงขนาดที่พระพุทธองค์ทรงย้ำเตือนให้พิจารณาอยู่บ่อย ๆ

____________________

• มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  45 เล่ม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.

พุทธศาสตรมหาบัณฑิต DOU