บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย ได้จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพุทธศาสตร์ (ปริญญาโท) ตั้งแต่เดือนกันยายน พุทธศักราช 2552 มาจนถึงปัจจุบัน
บัณฑิตวิทยาลัย DOU จัดการศึกษาในหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตด้วยระบบการศึกษาทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต (e-Learning) อย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทย และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันสามารถรองรับนักศึกษาได้ทั้งภายใน และต่างประเทศทั่วโลก
1. รายละเอียดหลักสูตร (หลักสูตรปรับปรุง พุทธศักราช 2566)
ชื่อหลักสูตร
ชื่อหลักสูตรภาษาไทย: หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาพุทธศาสตร์
ชื่อหลักสูตรภาษาอังกฤษ: Master of Buddhist Studies
ชื่อปริญญา
ชื่อเต็มภาษาไทย: พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พุทธศาสตร์)
ชื่อย่อภาษาไทย: พธ.ม. (พุทธศาสตร์)
ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ: Master of Buddhist Studies
(M.B., Buddhist Studies)
ชื่อย่อภาษาอังกฤษ: M.B. (Buddhist Studies)
2. วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
1) เพื่อผลิตพุทธศาสตรมหาบัณฑิตผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ฝึกฝนอบรมตนเองให้บริบูรณ์พร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และเป็นผู้นำสังคมทางด้านจิตใจ
2) เพื่อผลิตพุทธศาสตรมหาบัณฑิตผู้ที่มีความรู้ทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนา สามารถเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและมหาปูชนียาจารย์ได้
3) เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่อันเกิดจากการค้นคว้าวิจัยในเชิงลึกและให้บริการทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาแก่สังคม
3. ระบบการศึกษา
จัดการศึกษาแบบ 2 ภาคการศึกษาปกติ และภาคฤดูร้อน โดยเปิดการเรียนการสอนด้วยระบบ e-Learning เพื่อให้นักศึกษาได้จัดสรรเวลาในการเรียนรู้สื่อการเรียนการสอนที่บัณฑิตวิทยาลัยฯ จัดไว้ให้ในรายวิชาต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเดินทางมาเข้าชั้นเรียน นอกจากนี้ จะมีการสัมมนาสดออนไลน์ผ่านทางหน้าเว็บไซต์รายวิชา และสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเนื้อหาที่เรียนมากขึ้น และได้ฝึกปฏิบัติอย่างถูกต้องโดยได้รับคำแนะนำโดยตรงจากอาจารย์ประจำวิชาหรือวิทยากรผู้ชำนาญในประเด็นที่ศึกษา
4. ระยะเวลาการศึกษา
เวลาในการศึกษาตามหลักสูตร 2 ปีการศึกษา ไม่เกิน 4 ปี และมีเงื่อนไขในการขยายเวลา ดังนี้
นักศึกษาภาคปกติมีเวลาในการลงทะเบียนเรียนรายวิชาตามที่กำหนดในหลักสูตร (course work) และต้องได้รับการอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์ภายใน 4 ปี จึงจะสามารถยื่นขอทำวิทยานิพนธ์ต่อได้อีกไม่เกิน 2 ปี รวมทั้งสิ้น 6 ปี นับแต่วันลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา หากเกินระยะเวลาที่กำหนด จะต้องทำการสอบเข้าใหม่อีกครั้งและปรับรหัสนักศึกษาใหม่
ตัวอย่างรายวิชา
MB 211 107 ประวัติพระพุทธศาสนาและกำเนิดนิกาย (History of Buddhism and Origin of Nikaya)
พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ M.D., PhD.)
- อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย
- Doctor of Philosophy (Buddhist Studies), University of Tokyo)
MB 211 105 พระมหาธรรมกายเจดีย์และรูปแห่งพุทธะ (The Philosophy of Dhammakaya Cetiya and The Image of Awakening)
อาจารย์เกษมสุข ภมรสถิตย์
- ศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาวิชาการการศึกษา สำนักการศึกษาเมืองพัทยา
โครงสร้างหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พุทธศักราช 2566)
1. รายวิชาเรียน (Coursework)
MB 211 101 ศาสตร์เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
Buddhist Study for Wholesome Humanity
(4 หน่วยกิต)
ศึกษากระบวนการพัฒนามนุษย์สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยศึกษาพุทธธรรมในพระไตรปิฎกร่วมกับการอธิบายธรรมตามทัศนะของคณาจารย์และนักวิชาการที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงวิชาการและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ควบคู่กับการศึกษาและปฏิบัติภาวนาตามวิธีของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เพื่อให้ผู้เรียนมีสติสัมปชัญญะในการดำเนินชีวิตและมีเป้าหมายเพื่อการเข้าถึงพระรัตนตรัยอันเป็นที่พึ่งภายใน
MB 211 102 การดูแลสุขภาพเชิงพุทธบูรณาการ
Integrated Buddhist Healthcare
(4 หน่วยกิต)
ศึกษาหลักการดูแลสุขภาพในพระไตรปิฎกร่วมกับศาสตร์ทางการแพทย์ในปัจจุบัน แพทย์ทางเลือก และสาธารณสุข เพื่อให้ผู้เรียนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองในด้านการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำ การขับถ่าย การพักผ่อน การออกกำลังกายได้อย่างถูกวิธี สามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพกายของตนเองและปรับปรุงให้เหมาะสมกับอายุ เพศ และวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล โดยมีการฝึกเจริญสติและการทำสมาธิภาวนาร่วมด้วย เพื่อให้มีสุ
MB 211 103 พุทธวิธีในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
Buddhist methods for building economic stability
(4 หน่วยกิต)
ศึกษาพุทธวิธีในการอยู่ร่วมกับบุคคลรอบข้างและการปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลในทิศทั้ง 6 เป็นวิชาที่ต้องอาศัยฐานความรู้เรื่องการพัฒนาตนเองสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งในด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องเป้าหมายชีวิตและมีความเข้าใจตนเองในเรื่องต่าง ๆ ได้ดีในระดับหนึ่งแล้วจึงจะสามารถเข้าใจบุคคลอื่น ปฏิบัติดูแลผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมกับสถานะของตนเอง มีความเคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น รู้จักกาลเทศะ สร้างความสงบสุขในครอบครัวและสร้างสันติสุขแก่สังคมได้
MB 211 104 ศาสตร์และศิลป์แห่งการอยู่ร่วมกัน
Buddhist Study and Arts of Social Coexistence
(4 หน่วยกิต)
ศึกษาพุทธธรรมและหลักการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันในสังคม เรียนรู้การทำสัมพันธ์ชุมชนและสังคมสงเคราะห์ตามแนวพุทธ เพื่อให้รู้จักการวางตัวอย่างเหมาะสมและสร้างความสุขให้แก่สังคมด้วยพุทธธรรม
MB 211 105 พระมหาธรรมกายเจดีย์และรูปแห่งพุทธะ
Maha Dhammakaya Cetiya and The Image of Awakening (2 หน่วยกิต)
ศึกษาสถาปัตยกรรมที่สำแดงความเป็นพระพุทธศาสนาทั้งเชิงสัญลักษณ์และพระสัทธรรม รวมถึงมูลเหตุของการพัฒนารูปทรงของพุทธเจดีย์ ศึกษาความต่างและความเหมือนของพุทธศาสนเจดีย์ในแต่ละรูปทรง เปรียบเทียบกับองค์พระมหาธรรมกายเจดีย์ ทั้งโครงสร้าง รูปทรง องค์พระ และพุทธสาระที่ซ่อนอยู่ในพระมหาธรรมกายเจดีย์ ศึกษาศิลปะของพระพุทธรูปในแต่ละยุคสมัยในด้านของวัตถุประสงค์ในการสร้าง ข้อจำกัดและวิวัฒนาการ เพื่อเป็นพื้นฐานความเข้าใจในความแตกต่างของ พระพุทธรูปกับพระธรรมกาย
ทั้งด้านความหมายและนัยยะที่ซ่อนอยู่ในพระพุทธรูปและพระธรรมกาย ซึ่งคำว่า ธรรมกาย นั้นมีความหมายเนื่องกับ พระธรรมกาย ซึ่งมิใช่พระพุทธรูปแต่เป็นรูปแห่งพุทธะ คือ สภาวะธรรมที่ทำให้บรรลุอรหันต์และสัพพัญญุตญาณ จึงจำเป็นต้องศึกษาทั้งความแตกต่างของคำสรรพนามและความแตกต่างในเชิงความเป็นจริง
MB 211 106 การวิเคราะห์พระสูตรและการให้เหตุผลในพระไตรปิฎก
Sutra Analysing and Reasoning in Tipitaka
(4 หน่วยกิต)
ศึกษาพระไตรปิฎกและลำดับชั้นคัมภีร์ การสืบค้นพระไตรปิฎกด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและนำองค์ความรู้จากพระไตรปิฎกมาวิเคราะห์นำไปสู่การปฏิบัติ ฝึกอ่านทำความเข้าใจพระสูตรต่าง ๆ ทั้งสาระสำคัญ ประเด็นหลัก ประเด็นย่อย ตลอดจนข้อความที่ปรากฏในพระสูตรโดยละเอียด เน้นความถูกต้องในการอธิบายธรรมให้ได้ตรงตามพุทธประสงค์ในการสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาวิเคราะห์เพื่อสร้างเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน และวิเคราะห์ลักษณะการให้เหตุผลในพระสูตรต่าง ๆ เพื่อศึกษาวิธีการให้เหตุผลที่สมเหตุสมผลและรอบคอบในการอธิบายธรรม ทั้งกับบุคคลที่มีความศรัทธาในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วและยังไม่ได้ศรัทธา โดยศึกษาเทียบเคียงกับหลักการให้เหตุผลแบบตรรกศาสตร์เพื่อให้เห็นลักษณะการให้เหตุผลที่ดีและสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
MB 211 107 ประวัติพระพุทธศาสนาและกำเนิดนิกาย
History of Buddhism and Origin of Nikāya
(2 หน่วยกิต)
ศึกษาประวัติและพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในอดีตจนถึงปัจจุบันเริ่มตั้งแต่การเกิดขึ้นของพุทธศาสนาดั้งเดิม การเกิดขึ้นของพุทธศาสนาเถรวาท มหายาน วัชรยาน และตันตรยาน วิเคราะห์และอธิบาย ถึงประวัติและพัฒนาการของหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายานที่เริ่มต้นขึ้นในอินเดียตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงการเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคตะวันออกและตะวันตก การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอิทธิพลด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมในประเทศต่าง ๆ ที่มีผลต่อการปรับตัวของพระพุทธศาสนาในหลายมิติ
MB 211 108 ศาสนาและความเชื่อในสังคมโลก
Religions and Believes in Global Societies (2 หน่วยกิต)
ศึกษาการเกิดขึ้นและรูปแบบของศาสนาสำคัญต่าง ๆ ทั้งตะวันตกและตะวันออก รวมถึงความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทยและทั่วโลก วิเคราะห์ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในทางศาสนาและปรัชญา เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการมีอยู่ของพระเจ้า ปัญหาการบูชาของศาสนาเทวนิยม แนวคิดทางปรัชญาตะวันตกและตะวันออกที่น่าสนใจ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและอยู่ร่วมกับบุคคลที่มีความเชื่อหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสงบสุข
MB 210 101 ภาษาอังกฤษพื้นฐานสำหรับบัณฑิตศึกษา ไม่นับหน่วยกิต
English for Buddhist Studies
(ไม่นับหน่วยกิต (S/U))
ศึกษาและพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน เน้นพัฒนาทักษะการอ่านออกเสียงและศึกษารูปประโยคต่าง ๆ ที่นำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันเพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นักศึกษาจะได้รับการฝึกปฏิบัติ (Workshop) และฝึกฝนด้วยตนเองจากสื่อการเรียนรู้ออนไลน์
MB 211 109 ภาษาบาลีพื้นฐาน
Fundamental Pāli
(2 หน่วยกิต)
ศึกษาการอ่าน การเขียน และหลักไวยากรณ์บาลีระดับพื้นฐาน ครอบคลุมอักขรวิธีนามศัพท์ คุณนาม สรรพนาม อัพยยศัพท์ อาขยาต กิตก์ สมาส ตัทธิต สนธิ และแปลภาษาบาลี (มคธ-ไทย-มคธ) เพื่อทำความเข้าใจความหมายของศัพท์พื้นฐานทางพุทธศาสนา และสามารถใช้พจนานุกรมภาษาบาลีในการสืบค้น
หาความรู้จากคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาด้วยตนเอง และแปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทย และภาษาไทยเป็นภาษาบาลี
หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่สอบได้เปรียญธรรมหรือบาลีศึกษา 3 ประโยค ไม่ต้องลงเรียนภาษาบาลีพื้นฐาน แต่ต้องลงทะเบียนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการวิจัยแทน
MB 211 110 การวิจัยทางพุทธศาสตร์
Research Methodology in Buddhist Studies
(2 หน่วยกิต)
เพื่อให้เข้าใจลักษณะงานวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ศึกษางานวิจัยเชิงคุณภาพในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การวิจัยเอกสาร การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและคัมภีร์ ศึกษาวิธีการเก็บข้อมูลที่นิยมใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ เช่น การสัมภาษณ์วิธีต่าง ๆ เป็นต้น ศึกษาวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ และการใช้สถิติแบบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับงานวิจัย และสามารถนำวิธีการวิจัยเหล่านี้มาประยุกต์ใช้เพื่อการวิจัยทางพระพุทธศาสนาได้
MB 211 111 เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการวิจัย
Information Technology for Research
(2 หน่วยกิต)
ศึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศและการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำวิจัยอาทิ การจัดหน้ากระดาษวิทยานิพนธ์และโครงการตามรูปแบบที่บัณฑิตวิทยาลัยกำหนด เทคนิคการสืบค้นงานวิจัยจากอินเทอร์เน็ต การทำตารางวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์เอ็กซ์เซล (Microsoft Excel) เพื่อนำเสนอผลงานวิจัย การทำตารางบันทึกผลและแบบสอบถามออนไลน์ด้วยกูเกิลฟอร์ม (google form) เทคนิคการทำสไลด์นำเสนอผลงานด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์พาวเวอร์พอยท์ (Microsoft PowerPoint) และเทคนิคการนำเสนอผลงานวิชาการ
2. วิทยานิพนธ์ (Thesis)
MB 211 201 วิทยานิพนธ์
Thesis
(12 หน่วยกิต)
ศึกษาค้นคว้าและทำวิจัยเฉพาะบุคคล วิทยานิพนธ์จะต้องเป็นงานวิจัยเฉพาะบุคคลที่เกิดจากความคิดริเริ่มของนักศึกษาเอง และจะต้อง
ไม่เป็นงานวิจัยที่เคยผ่านการพิจารณาเพื่อให้ได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยหรือจากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ มาก่อน ทั้งนี้ หัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ที่แต่งตั้งโดยบัณฑิตวิทยาลัย โดยที่เนื้อหาวิทยานิพนธ์ต้องสอดคล้องตามลักษณะวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และต้องดำเนินการวิจัยภายใต้การควบคุมดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ การทำวิทยานิพนธ์แบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 4 หน่วยกิต รวม 12 หน่วยกิต
3. โครงการ (Project)
MB 211 301
Project
(12 หน่วยกิต)
เสนอประเด็นปัญหาที่นักศึกษาสนใจ หรือสิ่งที่ต้องการพัฒนา แล้วนำเสนอในเชิงกระบวนการโดยใช้พุทธธรรมร่วมกับทฤษฎีที่เหมาะสม เมื่อโครงการและผ่านการประเมินจากคณะกรรมการบัณฑิตวิทยาลัยฯ แล้วจึงลงมือปฏิบัติจริง เก็บข้อมูล ประมวลผล แล้วนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้จึงทำต่อให้เสร็จสมบูรณ์ แล้วนำเสนอปากเปล่าเพื่อขอจบ เมื่อผ่านการประเมินแล้วจัดทำเป็นรูปเล่มต่อไป
4. กลุ่มวิชาประสบการณ์วิชาชีพมหาบัณฑิต
เป็นกลุ่มวิชาที่ประเมินผลการเรียนแบบ ผ่าน/ไม่ผ่าน (S/U) ซึ่งนักศึกษาต้องผ่านทุกรายวิชา
MB 210 401 ธรรมปฏิบัติ
Buddhist Meditation
(ไม่นับหน่วยกิต (S/U))
รายวิชานี้นักศึกษาต้องปฏิบัติธรรมและบันทึกผลการปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอทุกวันตลอดหลักสูตร โดยรวบรวมจำนวนชั่วโมงพร้อมผลการปฏิบัติธรรมตลอดภาคการศึกษานั้น ๆ ส่งในช่วงปลายภาคการศึกษา และทำต่อเนื่องไปทุกภาคการศึกษาจนครบ 480 ชั่วโมง
MB 210 402 ทักษะและประสบการณ์วิชาชีพสำหรับมหาบัณฑิต
Skills and Professional Experiences for Graduate Student (ไม่นับหน่วยกิต (S/U))
ฝึกฝนทักษะรวบยอดและการประยุกต์ใช้วิชาความรู้ผ่านการอบรมเข้มเชิงปฏิบัติการ ร่วมกิจกรรมเดี่ยวและกิจกรรมกลุ่มอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อฝึกทักษะและประสบการณ์ในการเป็นผู้นำสังคมทางด้านจิตใจและปัญญา เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ เสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์และความสามารถในการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ พัฒนาบุคลิกภาพและภาวะผู้นำ ตลอดจนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อพัฒนาความเป็นพุทธศาสตรมหาบัณฑิตที่สมบูรณ์
MB 210 403 คอมพิวเตอร์พื้นฐานเพื่อการศึกษาทางไกล
Computer Basics for Distance Learning
(ไม่นับหน่วยกิต (S/U))
ศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการเรียนในระบบการศึกษาทางไกล อาทิ ไมโครซอฟต์เวิร์ด พาวเวอร์พอยท์ (Microsoft Word and PowerPoint) และอินเทอร์เน็ต (Intenet)
*รายวิชานี้เฉพาะนักศึกษาที่มีคะแนนสอบเข้าในส่วนคอมพิวเตอร์ไม่ผ่านเกณฑ์ หรือผู้ที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมก็สามารถลงทะเบียนได้
update 27/07/2566