'ภิกษุผู้น่าเลื่อมใส' สำรวมอิริยาบถประดุจพญาราชสีห์

          การสำรวมอิริยาบถนั้นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภิกษุมาก เพราะสามารถสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่พบเห็นได้ ดังกรณีอุปติสสะมาณพ (พระสารีบุตรเถระสมัยเป็นคฤหัสถ์) ได้เห็นอากัปกิริยาของพระอัสสชิเถระครั้งแรกก็เกิดความเลื่อมใส เมื่อเลื่อมใสแล้วก็อยากฟังธรรม เมื่อฟังธรรมแล้วก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน (วิ.มหา. (ไทย) 4/ 60/ 72-74) เราจึงไม่ควรมองข้ามเรื่องการสำรวมอิริยาบถ เพราะได้ทั้งประโยชน์ตน คือ เป็นการบำเพ็ญสมณธรรมด้วยการเจริญสติในอิริยาบถทั้ง 4 คือ นั่ง นอน ยืน เดิน ให้เกื้อกูลต่อการบรรลุธรรม และประโยชน์แก่พระศาสนา คือ เป็นต้นแบบที่ดีงามแก่ผู้ที่ศรัทธาแล้วและผู้ที่ยังไม่ศรัทธาให้เกิดความเลื่อมใส อยากศึกษาธรรมต่อไป เพราะอยากรู้ว่าพุทธบุตรท่านนี้ฝึกตนมาอย่างไร เหตุใดจึงน่าเลื่อมใสเช่นนี้ ดังนั้น การสำรวมอิริยาบถจึงเป็นประโยชน์ในการเผยแผ่พระศาสนาได้อีกทางหนึ่ง

          การพิจารณาอิริยาบถของภิกษุควรสำรวมระวังดุจดังพญาราชสีห์ เหตุที่เปรียบดังนี้เพราะพญาราชสีห์จะระมัดระวังอิริยาบถของตนตลอดเวลาไม่เว้นแม้กระทั่งเวลานอน ก่อนนอนจะสังเกตบริเวณที่นอนโดยรอบก่อนว่าเป็นอย่างไร เมื่อเห็นว่าบริเวณที่นอนเรียบร้อยดีก็สังเกตว่าหาง หู และเท้าของตนนั้นวางไว้อย่างไร หากวางไว้เป็นระเบียบแล้วจึงลงนอน

          ครั้นตื่นขึ้นมาก็สังเกตอีกว่า พื้นที่โดยรอบกระจัดกระจายหรือไม่ เท้า หาง หูของตนอยู่ที่เดิมหรือไม่ ถ้าไม่เรียบร้อยก็จะอดอาหาร เป็นการทำโทษตนเองที่นอนขาดสติ ไม่สมกับความเป็นราชสีห์ จึงนอนต่อไปอย่างนั้นโดยไม่ลุกไปหาอาหาร

          ในวันถัดไปหากตื่นมาแล้วอิริยาบถเรียบร้อยอย่างเดิมเหมือนตอนก่อนนอน ก็จะทำต่อเนื่องไปอีกจนครบ 7 วัน หากรักษาอิริยาบถของตนเช่นนี้ได้ถึง 7 วันจึงจะสมกับความเป็นพญาราชสีห์ กระทำได้ดังนี้จึงค่อยลุกไปหาอาหาร (องฺ.จตุกฺก. (ไทย) 21/ 246/ 366; อง.จตุกฺก.อ. 35/ 611)

          ดังนั้น ภิกษุควรมีสติระลึกรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่า เราเป็นบรรพชิต (นักบวช) มีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใด ๆ ของบรรพชิตเราต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ ดุจดังพญาราชสีห์ผู้มีความเพียรในการสำรวมอิริยาบถ มีท่าทางที่สง่างามเสมอแม้เวลานอน เมื่อภิกษุฝึกกิริยาอันสมควรแก่ความเป็นบรรพชิตสม่ำเสมอแล้ว สิกขา 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมบริบูรณ์ตามไปด้วย

____________________

• มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  45 เล่ม. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.

• มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล.  91 เล่ม.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2552.

พุทธศาสตรมหาบัณฑิต DOU