เป้าหมายสำคัญของการศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา

          เป้าหมายสำคัญของการศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาตรัสไว้ในพรหมจริยสูตร (องฺ.จตุกฺก. (ไทย.มมร) 35/ 25/ 79) สรุปได้ 4 ข้อ คือ 1) เพื่อสำรวมระวัง 2) เพื่อการละกิเลส 3) เพื่อคลายความกำหนัดยินดีในกามคุณ และ 4) เพื่อการดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงคน ไม่ใช่เพื่อเรียกร้องให้คนมานับถือ ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะหรือคำสรรเสริญ ไม่ใช่เพื่อความเป็นเจ้าลัทธิ ไม่ใช่เพื่อหักล้างลัทธิอื่น ไม่ใช่เพื่ออวดกับคนอื่นว่าตนรู้และปฏิบัติได้อย่างนั้นอย่างนี้

          เหตุใดพระพุทธองค์จึงตรัสเตือนเช่นนี้ เนื่องจากผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยมากเข้าย่อมมีความรู้มาก มีผลการปฏิบัติที่ดีขึ้นไปตามลำดับ แต่ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส อาจพลาดพลั้งเกิดความเห็นผิด แล้วใช้ผลแห่งการศึกษาและการปฏิบัติผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ที่ควรจะเป็นได้ ดังเช่นกรณีของพระเทวทัต (วิ.จู. (ไทย.มจร) 7/ 333/ 173-174) ที่บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อศึกษาและปฏิบัติไประยะหนึ่งจนได้โลกิยสมาบัติ แต่ยังไม่หมดกิเลส แทนที่จะมุ่งปฏิบัติขัดเกลาตนให้สิ้นอาสวกิเลส กลับนำคุณวิเศษที่ตนปฏิบัติได้นั้นไปหลอกลวงพระเจ้าอชาตศัตรูให้เลื่อมใสเพื่อหวังลาภสักการะ

          โดยแปลงกายเป็นกุมารมีงูพันสะเอวไปนั่งบนตักของพระเจ้าอชาตศัตรู แล้วแปลงกายกลับคืนเป็นพระภิกษุ พระเจ้าอชาตศัตรูจึงเกิดความเลื่อมใสพระเทวทัตอย่างมาก บำรุงเลี้ยงพระเทวทัตและภิกษุ 500 รูปที่อาศัยอยู่กับพระเทวทัต ด้วยอาหาร 500 สำรับทุก ๆ วัน พระเทวทัตไม่ได้หวังผลเพียงเท่านั้น เพราะมีความคิดว่าเมื่อได้บุคคลระดับเจ้าชายมาเป็นศิษย์แล้วจะมีผลต่อศรัทธาของประชาชนหมู่มาก จะสามารถชักนำให้ผู้คนมานับถือและสนับสนุนตนได้ง่ายขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น พระเทวทัตยังต้องการให้ผู้คนยกย่องตนทัดเทียมพระบรมศาสดา กล่าวได้ว่า อยากเป็นเจ้าลัทธิเสียเอง จึงได้หักล้างคำสอนของพระบรมศาสดาด้วยการเสนอให้หมู่สงฆ์ปฏิบัติวัตถุ 5 ประการ เช่น การอยู่ป่าตลอดชีวิต การไม่ฉันเนื้อฉันปลาตลอดชีวิต ฯลฯ

แต่พระบรมศาสดาไม่ทรงเห็นด้วย เพราะทรงมีพุทธประสงค์ให้ภิกษุดำรงเพศสมณะได้โดยไม่ยากลำบากเกินไป ทำตนเป็นผู้เลี้ยงง่าย ขบฉันได้ตามที่ญาติโยมสะดวกจัดหามาให้ จึงทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุฉันเนื้อและปลาได้โดยอาการ 3 คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้รังเกียจว่าฆ่ามาเพื่อเรา และอยู่ป่าได้ตามสมควร เป็นต้น จุดนี้จะเห็นได้ว่าพระเทวทัตจงใจอวดว่าตนเคร่งครัดกว่า รู้ดีกว่า เพื่อหักล้างคำสอนของพระบรมศาสดา

          กรณีของพระเทวทัตนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการปฏิบัติสวนทางกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งความเห็นผิดเช่นนี้ส่งผลร้ายแก่ตนเองและผู้ปฏิบัติตามอย่างยิ่ง

____________________

• มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  45 เล่ม. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.

• มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล.  91 เล่ม.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2552.

พุทธศาสตรมหาบัณฑิต DOU