การฝึกความดีสากล 5 ประการทำให้รักษาศีลได้ (2)

ความเป็นระเบียบกับการรักษาศีลข้อที่ 2

          หากใครมีนิสัยไม่รักความสะอาดเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นความสะอาดของร่างกายตนเองไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้และสภาพแวดล้อมรอบตัว ก็จะไม่สามารถจัดข้าวของต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบได้ เพราะก่อนที่เราจะจัดระเบียบสิ่งใด ๆ เราต้องทำความสะอาดสิ่งนั้นก่อน เช่น จะพับเสื้อผ้าเก็บใส่ตู้ให้เป็นระเบียบ แยกประเภท แยกสี ก็ต้องซักให้สะอาดเสียก่อนจึงจะพับเก็บได้

          เมื่อเราไม่ทำความสะอาดและไม่จัดระเบียบแล้ว ทรัพย์สินที่เรามีอยู่ก็จะเก่า เสื่อมสภาพเร็ว และสูญหายได้ เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มพอซักแล้วก็ตากแดดตากลมทิ้งไว้หลายวันไม่ได้เก็บ ทำให้ผ้าสีซีดเก่าเร็ว พอเก่าแล้วก็อยากได้ของใหม่อีก บางทีก็หยิบฉวยของคนอื่นที่ของเขายังใหม่กว่าสวยกว่ามาเป็นของตัว อย่างนี้ก็เป็นการละเมิดศีลข้อ 2 และเพิ่มโลภกิเลสให้แก่ตนเอง (ขุ.ขุ. (ไทย) 25/ 2/ 2; ขุ.ขุ.อ. 39/ 28)

          เครื่องใช้อย่างอื่นเช่นโต๊ะเก้าอี้ เมื่อใช้แล้วไม่เก็บเข้าที่ ปล่อยให้ตากแดดตากฝนผุพังจนใช้งานไม่ได้ ต้องซื้อของใหม่อยู่เรื่อย ๆ เป็นการสิ้นเปลืองทรัพย์ กล่าวได้ว่าเป็นการปล้นทรัพย์ของตนเอง หรือหากเป็นสมบัติส่วนรวมก็เหมือนเป็นการปล้นสมบัติส่วนรวม ใช้แล้วไม่รับผิดชอบ ชำรุดเสียหายบ้างสูญหายบ้าง สุดท้ายต้องเสียงบประมาณไปซื้อของใหม่โดยไม่จำเป็น ยิ่งถ้าเป็นสมบัติพระศาสนาผลเสียจะหนักกว่าสองกรณีแรก เนื่องจากข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ได้มาเพราะอาศัยศรัทธาญาติโยม เขาสละทรัพย์ที่หาได้โดยยาก สละสิ่งเครื่องอุปโภคบริโภคถวายวัดเพื่อหวังให้ได้บุญกุศลติดตัวไป ของเหล่านี้หากใช้อย่างประมาทจนอายุการใช้งานสั้นลง แทนที่เขาจะได้บุญกุศลไปนาน ๆ ตามอายุการใช้งานของสิ่งของนั้น กลับได้เพียงชั่วระยะหนึ่ง อีกทั้งญาติโยมมาเห็นว่าใช้ของทิ้งขว้างก็เสื่อมศรัทธา อย่างนี้เป็นการปล้นสมบัติพระศาสนา ปล้นศรัทธาญาติโยม และสร้างบาปอกุศลแก่ตนด้วย การกระทำข้างต้นนี้เป็นการเพาะนิสัยขาดความรับผิดชอบและขยายกิเลสตัวโลภะให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ ของที่ได้มาแล้วก็ใช้อย่างเดียว ไม่ถนอมรักษา และอยากได้ของใหม่ที่ดีกว่าของตนอยู่เสมอ

          นอกจากนี้ คนประเภทนี้เมื่อหาของ ๆ ตนเองไม่พบ มักขอหยิบยืมจากผู้อื่น โดยเริ่มจากของเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน เช่น ปากกา ดินสอ เครื่องเขียนต่าง ๆ เมื่อยืมเขามาใช้ก็เผลอหยิบฉวยติดมือมาแล้วไม่ขวนขวายไปคืน เงินเล็กน้อยก็มักยืม 5 บาท 10 บาท แต่พอ “ขอยืม” มักกลายเป็น “ขอลืม” อยู่เสมอ เมื่อทำจนเป็นนิสัยจะขยายการยืมไปเป็นของที่ใหญ่ขึ้นและมีราคามากขึ้น แต่ด้วยนิสัยที่ใช้สิ่งของไม่ระมัดระวัง ไม่รู้จักเก็บรักษาของ ปล่อยทิ้งขว้างจนเคย ก็มักจะทำของผู้อื่นชำรุดเสียหายหรือสูญหาย แล้วมักไม่ยอมรับว่าตนทำเสียหรือทำหาย ป้ายความผิดให้ผู้อื่นอีกด้วย ยิ่งเป็นของส่วนกลางที่ใครจะใช้ก็ได้ จะใช้อย่างเดียวแต่ไม่ใส่ใจดูแลรักษา ของสาธารณะจึงชำรุดทรุดโทรมง่ายด้วยเหตุนี้ หากบริษัทห้างร้านใดมีลูกน้องที่ไม่รักษาความสะอาดและขาดระเบียบมากขึ้นเท่าใด เจ้าของบริษัทก็ต้องเสียงบประมาณจัดซื้อของใหม่โดยไม่จำเป็นมากขึ้นเท่านั้น

          คนที่ประพฤติเช่นนี้บ่อยเข้า จะบ่มเพาะโลภะมากขึ้นเรื่อย ๆ มักได้จนเคยชิน ของใครวางอยู่ถ้าหยิบได้เป็นหยิบ ยิ่งของฟรีก็จะเอาให้ได้มาก ๆ  ไม่น่าเชื่อว่า ความมักง่ายเห็นแก่ตัวของคนจึงมีเหตุมาจากการไม่รักษาความสะอาดและขาดระเบียบดังที่กล่าวมานี้

____________________

• มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  45 เล่ม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.

• มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล.  91 เล่ม.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2552.

พุทธศาสตรมหาบัณฑิต DOU